#KTDUpdate ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นและข้อเรียกร้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหลายครั้ง สำหรับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนักเรียนกับนักเรียน ครูกับนักเรียน การบูลลี่ การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการลงโทษนักเรียนที่เกินกว่าเหตุ ฯลฯ
ขณะที่ช่องทางร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาของ ศธ. ผ่านสายด่วน 1579 ที่มีมายาวนาน กลับทำให้นักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย ยังไม่รับรวมปัญหาการสื่อสารที่โทรติดยาก การแก้ไขปัญหาล่าช้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับข้อร้องเรียนของกลุ่มนักเรียน จัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) เพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงปราบปราม ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดที่กระทำความผิด พร้อมสะสางปัญหาเก่าและยุติปัญหาใหม่ ด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ เด็ดขาด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกระทำหรือผู้พบเห็นการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา ร้องเรียนและร้องทุกข์ได้ทางสายด่วน ศคพ. โทร 0-2007-0001
ขณะเดียวกันยังเชิญภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ได้แก่ องค์กรยูนิเซฟแห่งประเทศไทย มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิศานติวัฒนธรรม และองค์กรทำดี เข้าร่วม เสนอเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ล่าสุด “น.ส.ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ Kick-off สถานศึกษาปลอดภัย ระดับภูมิภาค 8 จังหวัด โดยนักเรียนสามารถแจ้งเหตุได้ 4 ช่องทาง ดังนี้ ในแอพพลิเคชั่น, www.MOESafetyCenter.com, LINE @MOESafetyCenter หรือที่ call center 0-2126-6565
โดยแอพพลิเคชั่น MOE SAFETY CENTER จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รวดเร็ว และช่วยให้เด็กสามารถโหลดและแจ้งเรื่องร้องเรียนถึงส่วนกลางได้โดยตรง ศธ.สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที มีความเป็นธรรมและโปร่งใส
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้รับแจ้ง จะกลายเป็น “บิ๊กดาต้า” ที่ทำให้ ศธ.ทราบว่าอะไรที่เป็นปัญหาหลักได้รับการร้องเรียนมากที่สุด เพื่อหาแนวทางแก้ไขในระยะยาวต่อไป จากนี้จะเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้แต่ละพื้นที่เกิดความตื่นตัว เข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับเด็กๆ มุ่งเน้น 3 มาตรการ คือ ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความปลอดจากภัย ทั้งภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ และภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ
ด้าน “นายอัมพร พินะสา” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยอมรับว่า ที่ผ่านมาสถานศึกษามีความไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว และระบบการดูแลแก้ไขปัญหาอาจจะไม่รวดเร็วทันท่วงที ซึ่งต้องสร้างการรับรู้เรื่องความปลอดภัยให้กับผู้ปกครอง นักเรียนและครูประจำชั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด จากนั้นสร้างการรับรู้ในระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่ฯ และระดับประเทศ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั้งหมด เชื่อว่าถ้าทุกโรงเรียนมีความเข้มแข็ง ผู้ปกครองและครูตระหนักและเข้าใจ ก็จะทำให้สถานศึกษามีความอบอุ่นและปลอดภัย
ขณะที่ “นายสมพงษ์ จิตระดับ” นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า นโยบายของ น.ส.ตรีนุช ถือเป็นนโยบายที่ดี เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในสถานศึกษาได้ เพราะสถานศึกษาในประเทศไทยยังเป็นระบบอำนาจนิยมอยู่ ซึ่งต่างจากสถานศึกษาในต่างประเทศที่เป็นระบบสากลและเปิดกว้าง ให้นักเรียนมีอิสระ สาเหตุที่ทำให้สถานศึกษาในประเทศไทยไม่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน มาจากโครงสร้าง 3 ส่วน คือ
1.ระบบอำนาจนิยม ที่ยังถูกครอบงำจากศูนย์กลางอยู่ เพราะปัจจุบันมีทั้งระบบสั่งการและลงโทษ ถ้า ศธ.ไม่แก้ปัญหาอำนาจรวมศูนย์ความปลอดในสถานศึกษาก็จะไม่เกิดขึ้น
2.กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข สถานศึกษายังยึดค่านิยม มาตรฐาน กฎระเบียบเดิมๆ อยู่ทำให้เห็นข่าวการลงโทษเด็กตามสื่ออยู่ตลอดเวลา และ
3.ปัจจุบันยังมีการแข่งขันระหว่างสถานศึกษาอยู่ นักเรียนจะถูกกดทับด้วยระบบอำนาจ ระเบียบกฎเกณฑ์ มาตรฐานและตัวบ่งชี้ ทำให้นักเรียนถูกครอบงำ ปิดกรอบ และต้องอยู่ในแนวปฏิบัติที่สถานศึกษาวางไว้
“จะเห็นว่าเด็กแทบไม่มีโอกาสในการปกป้องประโยชน์ของตัวเอง นอกจากว่าจะมีการเสนอข่าวจากสื่อมวลชน มองว่านโยบายของ น.ส.ตรีนุช เป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่สามารถทำลายอำนาจนิยมในสถานศึกษาได้” นายสมพงษ์ระบุ. ที่มา : มติชน
#MOESafety#แอพพลิเคชันแจ้งสกัดภัยนักเรียน#ทางออกการแก้ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา#ความปลอดภัยของนักเรียน#สถานศึกษา#โรงเรียน#นักเรียน#นักศึกษา#เยาวชน#เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย#Katanyudemy#กตัญญูเดมี่#กตัญญู#พัฒนาการศึกษาไทย ไม่อยากพลาดข่าวสารด้านการศึกษาดี ๆ จากทุกมุมโลก อย่าลืมติดตาม Katanyudemy กันนะคะ
ติดต่อลงข่าวและประชาสัมพันธ์เรื่องราวและข่าวสารด้านการศึกษากับ Katanyudemy สามารถ inbox เข้ามาที่เพจได้เลยค่ะ
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมคลิก