Katanyudemy

katanyudemy
แม่น้ำเจ้าพระยา

“แม่น้ำเจ้าพระยา” ทำไมเรียกแม่น้ำว่า “เจ้าพระยา”

#KTDThai แม่น้ำเจ้าพระยากำเนิดจากแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่มากมาย โดยมีแม่น้ำสายหลัก 4 สายคือ ปิง วัง ยม น่าน ซึ่งไหลมาจากภูเขาสูงจากทางภาคเหนือ แม่น้ำวังไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่จังหวัดตาก แม่น้ำยมไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นแม่น้ำทั้ง 4 สายก็ไหลมาบรรจบเป็นสายเดียวกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลมาทางใต้อีกกว่า 300 กิโลเมตรเพื่อมาออกที่อ่าวไทยตรงจังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับคนไทยแม่น้ำเจ้าพระยาคือวงจรชีวิตและหัวใจของวัฒนธรรมไทย 🥰

เหตุการณ์สำคัญมากมายในประวัติศาสตร์ไทยเกิดขึ้นบนสองฝั่งฟากแม่น้ำนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงมาถึงสามยุคสมัยคืออยุธยา ธนบุรี และกรุงเทพมหานคร
แม่น้ำเจ้าพระยาไม่เป็นเพียงเส้นทางคมนาคมและขนส่งที่สำคัญของประเทศเท่านั้น เพราะตลอดเส้นทางที่ไหลผ่านกระแสน้ำได้พัดพาตะกอนอันอุดมสมบรูณ์มาด้วย จึงก่อให้เกิดที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่และเหมาะแก่การเพาะปลูกซึ่งได้ผลดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 👍

ที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ดึงดูดผู้คนให้มาตั้งถิ่นฐาน และไม่นานที่ราบลุ่มนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า “บางกอก” ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นแหล่งที่มีต้นมะกอกอยู่มากหรืออาจจะเป็นเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของแผ่นดินที่มีรูปร่างคล้ายเกาะ โดยมีแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ห้อมล้อม เมื่อผู้คนอพยพมาอยู่กันมากขึ้นก็เกิดเป็นเมืองใหญ่ชื่อ “ธนบุรีศรีมหาสมุทร”

ทางด้านตะวันตกของเกาะเป็นที่ดอนมีบริเวณพื้นที่สูงกว่าอุดมสมบรูณ์กว่าฝั่งตะวันออกที่เมื่อหลายร้อยปีก่อนยังเป็นเพียงที่ลุ่มต่ำ มีป่าชายเลนสลับกับหนองบึง 🌳

นับจากศตวรรษที่ 14 บางกอกเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือและพ่อค้าซึ่งเดินทางมาค้าขายกับสยามประเทศโดยมีศูนย์กลางการค้าอยู่ที่เมืองหลวงคืออยุธยา

⛵️ บรรดานักเดินเรือและพ่อค้าจะต้องแวะที่บางกอกก่อนการเดินทางอันยาวไกลตามเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดเคี้ยวไปสู่จุดหมายปลายทางคืออยุธยา สมัยก่อนการเดินทางจากปากอ่าวไทยตามเส้นทางแม้น้ำเจ้าพระยาตามสภาพปัจจุบันคือจากปากน้ำในจังหวัดสมุทรปราการ ไปยังจังหวัดนนทบุรีต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งวัน เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยนั้นไหลคดเคี้ยวเป็นรูปเกือกม้ารอบเกาะบางกอก

ในปี 2085 สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์องค์ที่ 15 แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเห็นความลำบากที่เกิดขึ้นกับนักเดินเรือและพ่อค้าจึงมีพระบัญชาให้ขุดคลองลัดตัดโค้งรูปเกือกม้าเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงที่ปัจจุบันเป็นปากคลองบางกอกน้อยกับคลองบางกอกใหญ่เข้าด้วยกัน
กระแสน้ำที่ปรับเปลี่ยนไหลไปทางคลองลัด ซัดเซาะตลิ่งสองข้างให้กว้างขึ้นกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ ย่นระยะเวลาการเดินทางจากสมุทรปราการถึงนนทบุรีที่เคยใช้เวลาหนึ่งวันเป็น “ชั่วหม้อข้าวเดือด” คือไม่เกินชั่วโมง เป็นที่ปลาบปลื้มของบรรดาพ่อค้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เช่น จีนและโปรตุเกส ซึ่งทำให้กิจการค้าของอยุธยารุ่งเรืองมากขึ้น คลองลัดนี้คือแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันซึ่งไหลผ่านวัดอรุณราชวรารามและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ 🏫

แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมกลายเป็นคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ ส่วนเกาะบางกอกถูกตัดแยกออกจากกันเป็นสองส่วน มีเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตก ซึ่งในสมัยอยุธยานั้นธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าแห่งหนึ่งของสยาม ดึงดูดผู้คนจากที่ต่าง ๆ ทั้งที่มีฐานะและเพิ่งก่อร่างสร้างตัวมาช่วยกันสร้างชุมชนขึ้น
🔎 ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี วัดสำคัญๆหลายแห่งทางบางกอกฝั่งตะวันตก เช่น วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวราราม วัดท้ายตลาดหรือวัดโมลีโลกยารามและวัดระฆังโฆสิตาราม รวมทั้งฝั่งตะวันออกคือวัดโพธารามหรือวัดพระเชตุพนและวัดสลักหรือวัดมหาธาตุสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการเจริญเติบโตของชุมชน คือประมาณ พ.ศ. 2143 หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก

สมัยพระนารายณ์มหาราช (2199-2231) ธนบุรีศรีมหาสมุทรไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางทางการค้าเท่านั้น ยังเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญเพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลแลนด์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้ฝรั่งเศสสร้างป้อมทหารขึ้นสองป้อมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ป้อมวิชัยประสอทธิ์ ปัจจุบันอยู่หน้ากองทัพเรือในฝั่งธนบุรีและป้อมวิชาเยนทร์ ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้วอยู่ตรงบริเวณใกล้เคียงกับปากคลองตลาด ฝั่งกรุงเทพฯ

หลังจากอยุธยาล่มสลายในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงเลือกธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากความสำคัญของเมืองประกอบกับทำเลที่ตั้งซึ่งอุดมสมบรูณ์และมีชัยภูมิเหมาะสม แต่ความสำคัญของธนบุรีศรีมหาสมุทรก็ค่อย ๆ ลดลง จนปี พ.ศ. 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ✨

ในสังคมไทยสมัยใหม่ สถานะของกรุงเทพฯ และกรุงธนบุรีถือเป็นอิสระแก่กันจนกระทั่งปี พ.ศ. 2514 เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้นยุบรวมสองจังหวัดที่ตั้งอยู่ตรงข้ามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจังหวัดเดียวกันคือกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทย

🤔 แล้วทำไมถึงเรียก “แม่น้ำเจ้าพระยา” ว่า “เจ้าพระยา” ❓ มีหลายทัศนะแสดงความเห็นถึงที่มาของชื่อนี้กันไว้หลากหลายที่มา เช่น
สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวเอาไว้ว่า “ที่เราเรียกกันว่าปากน้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ แต่โบราณเรียกว่าปากน้ำพระประแดง ภายหลังเมื่อแผ่นดินงอกทะเลห่างออกไปไกลเมืองพระประแดงจึงเรียกว่าปากน้ำบางเจ้าพระยา ได้เห็นในจดหมายเหตุพระอุบาลีไปเมืองลังกาเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในหนังสือนั้นเรียกว่าปากน้ำบางเจ้าพระยา ทํานองเรียกปากน้ำบางปะกง เข้าใจว่าที่ซึ่งตั้งเมืองสมุทรปราการทุกวันนี้ในเวลานั้นจะเรียก “บางเจ้าพระยา” ” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา : 2505 : หน้า 455)

📍 โดยสรุป สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพกล่าวว่า ในสมัยโบราณนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่รู้ว่าชื่ออะไรแน่ แต่เรียกบริเวณปากน้ำว่า “ปากน้ำพระประแดง”
คําว่า “เจ้าพระยา” เพิ่งมาปรากฏเรียก “ปากน้ำบางเจ้าพระยา” เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าที่ซึ่งเป็นเมืองสมุทรปราการหรือจังหวัดสมุทรปราการทุกวันนี้นั้น แต่ก่อน (คือสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) คงจะเรียกว่า “บางเจ้าพระยา”

🤓 รวมถึงพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2041 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้มีการขุดลอกคลองสำโรงเนื่องจากคลองตื้นเขิน เรือใหญ่เดินทางไปมาผ่านคลองสำโรงไม่สะดวกและมีการขุดพบรูปเทพารักษ์ 2 องค์ได้แก่ พระยาแสนตาและพระยาบาทสังขกรจึงเรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า “บางเจ้าพระยา” ซึ่งต่อมาได้นำชื่อชุมชนบริเวณปากน้ำนี้มาตั้งเป็นชื่อแม่น้ำนั่นเอง

การขุดคลอง…ลัดแม่น้ำ 🌊
การขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณกรุงเทพมหานครเกิดขึ้น 3 ครั้งในสมัยอยุธยาซึ่งประกอบด้วย
📍 ครั้งแรก ขุดในสมัยของสมเด็จพระชัยราชา ขุดตั้งแต่คลองบางกอกน้อยบริเวณหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย ไปถึง คลองบางกอกใหญ่ บริเวณหน้าวัดอรุณราชวราราม เพื่อความสะดวกในการค้าขายซึ่งสมัยนั้นจะติดต่อกับโปรตุเกสและจีน
📍 ครั้งที่สอง ขุดในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ขุดคลองบางกอกน้อยเชื่อมสายใน ระหว่างคลองบางกอกน้อย ส่วนที่เป็น แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตรงวัดสุวรรณคีรีกับคลองบางกรวยตรงวัดชลอ
📍 ครั้งที่สาม ขุดในสมัยพระเจ้าปราสาททองจากวัดเฉลิมพระเกียรติมาเชื่อมกับปากคลองบางกรวยในปัจจุบัน (แม่น้ำ เจ้าพระยาเดิม)

📍 และในสมัยรัตนโกสินทร์ 1 ครั้ง คือคลองลัดโพธิ์ บริเวณตำบลทรงคะนองและตำบลบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อช่วยในการระบายน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า ⚡️

📣 ข้อมูลจาก : Baanjomyut, silpa-mag

#เจ้าพระยา#เเม่น้ำเจ้าพระยา#แม่น้ำ#บางเจ้าพระยา#ความเป็นมาของเเม่น้ำเจ้าพระยา#ที่มาของชื่อแม่น้ำเจ้าพระยา#การขุดแม่น้ำเจ้าพระยา#บางกอก#คลองบางกอกน้อย#คลองบางกอกใหญ่#นักเรียน#นักศึกษา#เยาวชน#Education#KTDThai#ประวัติศาสตร์ชาติไทย#เรื่องราวน่ารู้ความเป็นไทย#เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย#Katanyudemy#กตัญญูเดมี่#กตัญญู#พัฒนาการศึกษาไทย

👇
👇
📣 ไม่อยากพลาดข่าวสารด้านการศึกษาดี ๆ จากทุกมุมโลก อย่าลืมติดตาม Katanyudemy กันนะคะ 🧐

☎️ ติดต่อลงข่าวและประชาสัมพันธ์เรื่องราวและข่าวสารด้านการศึกษากับ Katanyudemy สามารถ inbox เข้ามาที่เพจได้เลยค่ะ 🥰

🙏 สนับสนุนโดย cutepress ORIENTAL PRINCESS และกตัญญู www.katanyu77.com

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมคลิก