วิวัฒนาการของ ซองแดง อารยธรรมจีนก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาในแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหเมื่อกว่า 1,600-3,600 ปีมาแล้ว (สายพันธุ์มนุษย์ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นถึง 80,000 ปี) ตัววัฒนธรรมจีนนั้นจึงเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมแรกๆ ของโลกที่พัฒนาขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้สำเร็จ (กลุ่มอารยธรรมโบราณ)
กาลเวลาผ่านไปจนถึงยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศจีนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเมืองการปกครอง ศิลปกรรม และเทคโนโลยี ขนบธรรมเนียมหลายๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันก็เริ่มที่จะปรากฏขึ้นให้เห็นเด่นชัด นวัตกรรมอย่างดินปืนและกระดาษได้ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว ซึ่งกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของเทศกาลตรุษจีนในภายหลัง (ชาวจีนยุคแรกเริ่มเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ก่อนจะกลายมาเป็นตรุษจีนที่ยึดเอาวันเวลาตามปฏิทินสุริยจันทรคติ)
เมื่อจีนเริ่มผลิตระบบเงินตราขึ้นมาใช้อย่างจริงจัง ผู้คนทั่วไปจึงได้มีโอกาสเข้าถึงเหรียญกษาปณ์ในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางการเงิน ในช่วงราชวงศ์ชิงนั้นชาวจีนทั่วไปมักจะใช้เหรียญชนิดที่มีรูจตุรัสอยู่ตรงกลาง และทำการพกพาหรือเก็บโดยใช้เชือกร้อยผ่านรูเข้าไปเพื่อมัดเป็น ‘ท่อนเหรียญ’ แล้วผูกเอาไว้ที่เอว (แต๊ะเอีย) ในยุคนี้การผลิตกระดาษคุณภาพดียังไม่เป็นที่แพร่หลายหรือมีประสิทธิภาพมากพอ การใช้ซองหรือธนบัตรจึงยังไม่มีให้เห็นในสังคม ส่งผลให้การให้เงินในเทศกาลตรุษจีนนั้นมักจะให้เหรียญไปเป็นท่อน โดยใช้ด้ายหรือเชือกสีแดงผูกเอาไว้ นับเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี
.
เชื่อกันว่าตำนานที่เป็นรากฐานของประเพณีให้เงินนี้ มาจากเรื่องเล่าของปีศาจที่ชื่อว่า ซุย ซึ่งจะปรากฏกายในช่วงค่ำคืนก่อนวันปีใหม่ หากมันเจอเด็กคนใดที่กำลังหลับไหลก็จะเข้าไปแตะหัว ทำให้เด็กเกิดอาการกลัวและร้องไห้รวมถึงมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ชาวจีนโบราณจึงหลีกเลี่ยงที่จะนอนกันในช่วงคืนพิเศษนี้ ว่ากันว่ามีคู่สามีภรรยาคู่หนึ่งพยายามป้องกันไม่ให้ลูกของตนเผลอหลับโดยเล่นกับลูกด้วยเหรียญทองแดง (เหรียญที่มีรูนั่นแหละ) แต่เมื่อลูกง่วงจนเกินขีดจำกัดแล้ว พวกเขาจึงจำต้องปล่อยให้ลูกไปนอนโดยนำเหรียญห่อด้วยวัสดุสีแดงวางเอาไว้ใต้หมอน
เมื่อเจ้าปีศาจซุยมันปรากฏกายและทะลวงผ่านหน้าต่างเข้ามาในห้องนอนอย่างรวดเร็ว แต่พอจะเอื้อมมือไปแตะตัวเด็กเท่านั้นแหละ หมอนก็เปล่งแสงขึ้นและทำเอาเจ้าปีศาจตกใจจนเตลิดหนีไป ตำนานนี้จึงน่าจะเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่าการมอบเงินในบรรจุภัณฑ์สีแดง (ซึ่งเป็นสีมงคลตามวัฒนธรรมจีนอยู่แล้ว) จะช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายและปกป้องผู้ที่ได้รับมอบของขวัญชนิดนี้เอาไว้ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ.
อีกหนึ่งตำนานคือที่มาของคำว่า ‘อั่งเปา’ เรื่องเล่านี้ดูจะตรงไปตรงมาหน่อย โดยเริ่มที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งถูกสัตว์ร้ายเข้าอาละวาดโจมตี สร้างความปั่นป่วนไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นนักรบหรืออัศวินจากทั่วทุกสารทิศก็ไม่สามารถที่จะปราบอสูรตนนี้ลงได้เลย จนกระทั่ง “อั่งเปา” เด็กกำพร้าพร้อมดาบวิเศษที่ตกทอดมาจากบรรพบรุษ ปรากฏกายขึ้นและเข้าต่อสู้กับสัตว์ร้ายตนนี้อย่างดุเดือด ในที่สุดเขาก็สามารถปราบมันลงได้ และนำพาเอาความสงบสุขกลับคืนสู่หมู่บ้านได้สำเร็จ เพื่อตอบแทนบุญคุณของเขา ชาวบ้านจึงให้ซองเงินกับอั่งเปา ซึ่งกลายเป็นฮีโร่และสัญลักษณ์ของความดีงามไปหลังจากนั้น.
อย่างไรก็ตามตำนานทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันถึงความเป็นมาอันชัดเจน โดยเชื่อว่าเรื่องเล่าทั้งหมดนี้ก็ไม่ต่างจาก เรื่องเล่าทั่วๆ ไปที่ถูกแต่งขึ้นมาในอดีตเพื่อแสดงถึงแนวคิดบางอย่าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าเรื่องเล่าพวกนี้แหละ ที่ค่อยๆ รังสรรค์ประเพณีการให้อั่งเปาขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งจนกลายมาเป็น ‘แต๊ะเอีย’ ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน (คำสองคำนี้ถูกใช้เรียกสิ่งเดียวกันไปแล้วและเอาเข้าจริงก็ถูกใช้สลับกันไปกันมาจนเคยชินเลยด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าความหมายจริงๆ จะไม่ใกล้เคียงกันเลยก็ตาม)


*อั่งเปา แปลว่า ซองสีแดง
*แต๊ะเอีย แปลว่า ของที่มากดหรือทับเอว หรือ ผูกไว้ที่เอว..
ซองแดงวันตรุษจีนไม่ใช่แค่วัฒนธรรมธรรมดาๆ แต่เป็นทั้งเครื่องมือทางสังคมและดัชนีที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของครอบครัว มันเป็นทั้งเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกของหลาย ๆ คน เป็นทั้งตัวฝึกการบริหารเงินให้กับเด็ก ๆ และในขณะเดียวกันก็เป็นพาหนะของความห่วงใยในรูปของสิ่งที่จับต้องได้จากคนในเจนเนอเรชันก่อนหน้า ที่ต้องเผชิญกับการทำงานในโลกที่หมุนไปด้วยเงินก่อนเรา รวมทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การค้นพบทางเทคโนโลยี และความเชื่อในสิ่งมงคลของคนจีนที่หล่อหลอมจนเกิดเป็นวัฒนธรรมนี้ขึ้นมา.
ภายในซองแดงไม่ได้มีแค่เงินสด แต่รวมเอาความรู้สึกนึกคิดและสายสัมพันธ์ต้นตำรับของชาวจีนเอาไว้ได้อย่างถ่องแท้
.
ข้อมูลจาก : The Momentum.#chineseNewYear#ตรุษจีน#วันตรุษจีน#AngPao#อั่งเปา#เต๊ะเอีย#ซองแดง#วัฒนธรรมจีน#นักเรียน#นักศึกษา#การศึกษา#Education#เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย#KatanyuWorldWide#Katanyudemy#กตัญญูเดมี่#กตัญญู#พัฒนาการศึกษาไทย.



ไม่อยากพลาดข่าวสารด้านการศึกษาดี ๆ จากทุกมุมโลก รวมถึงข่าวสารการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่าลืมติดตาม Katanyudemy กันนะคะ
.
ติดต่อลงข่าวและประชาสัมพันธ์เรื่องราวและข่าวสารด้านการศึกษากับ Katanyudemy สามารถ inbox เข้ามาที่เพจได้เลยค่ะ
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมคลิก