#KTDMore “เจาะลึกการเรียนระดับอุดมศึกษา”
1. ระดับเตรียมอุดมศึกษา
เป็นขั้นตอนการเตรียมพร้อมไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย ในแต่ละประเทศมีระดับเตรียมอุดมศึกษาไม่เท่ากัน บางประเทศนั้นรวมไว้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย บางประเทศเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว จะต้องเข้าเรียนในระดับเตรียมอุดมศึกษาก่อน ในประเทศไทยยกเลิกระดับเตรียมอุดมศึกษาแล้วเปลี่ยนเป็นมัธยมศึกษาตอนปลายมาอย่างยาวนาน ระดับนี้เป็นการเตรียมพร้อมเรียนในวิชาที่จำเป็นต่อการเรียนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ ก่อนเข้าไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย บางประเทศจะให้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพก่อนที่จะเข้าเรียนจริงเพื่อให้ผู้เรียนได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเจอเพื่อลดอัตราการลาออก
2. ระดับปริญญาตรีหรือปริญญาบัณฑิต
ระดับนี้เป็นระดับที่เรียนทบทวนเนื้อหาที่เรียนมาในระดับเตรียมอุดมศึกษา โดยปกติจะเรียนในปีแรกของแต่ละหลักสูตร แต่สอดแทรกเนื้อหาระดับปริญญาตรีเข้าไปมากขึ้นในแต่ละชั้นปี โดยเน้นวิชาพื้นฐานไปจนถึงวิชาระดับกลางและระดับสูง โดยหลายวิชานั้นมีเงื่อนไขว่าต้องเรียนและสอบผ่านวิชาใดวิชาหนึ่งก่อนที่จะสามารถลงเรียนวิชาต่อไปได้
การเรียนมีอิสระในการเลือกเรียนมากกว่าระดับเตรียมอุดมศึกษา แม้เนื้อหาวิชาจะชื่อคล้ายพื้นฐานที่เคยเรียนมา แต่จะมีความลุ่มลึกมากกว่า เช่น แคลคูลัส ที่จะเรียนเป็นส่วนหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์ในระดับเตรียมอุดมศึกษา แต่เมื่อเข้ามาศึกษาระดับปริญญาตรีจะต้องเรียนแคลคูลัสถึง 3 รายวิชา
การเรียนระดับปริญญาตรีจำเป็นในหลายวิชาชีพ เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ต้องมี ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร สถาปนิก ครู นักการเงิน นักบัญชี ฯลฯ ซึ่งในบางสาขาวิชาชีพนั้นอาจต้องมีการเรียนต่อเฉพาะทางหรือสอบมาตรฐานเพิ่มเติมอีก
การเรียนระดับปริญญา เป็นการเรียนเพื่อมุ่งสู่อาชีพ เรียนพื้นฐานมโนทัศน์ (concept) ที่สำคัญของวิชาชีพนั้น ๆ จึงต้องเรียนอย่างน้อย 120-130 หน่วยกิตตลอดหลักสูตร หรือในบางหลักสูตรนั้นให้เรียนประมาณ 160 หน่วยกิตเลยทีเดียว ตลอดจนการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น ฝึกความเป็นผู้ใหญ่ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ค่ายอาสา ค่ายวิชาการ กิจกรรมกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีวิชาหรือภาคการศึกษาที่ต้องฝึกงาน
3. ระดับปริญญาโทหรือปริญญามหาบัณฑิต
เป็นการเน้นเข้าสู่ความเป็นนักวิชาการ การเรียนหลักการจะมีการเรียนน้อยลง เรียนแค่บางวิชา โดยปกติจะเรียนประมาณ 10 กว่าวิชาเพียงเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นการฝึกทำวิจัย ซึ่งแต่ละสาขาวิชาก็จะมีความเข้มข้นแตกต่างกัน บางครั้งออกมาเป็นรูปแบบวิทยานิพนธ์ บางครั้งออกมาในรูปแบบการค้นคว้าอิสระ (เบากว่าการทำวิทยานิพนธ์) ดังนั้นระดับปริญญาโทจะมีการเรียนโดยใช้เวลาได้น้อยที่สุดในบรรดาปริญญาทั้งหมด
การเรียนระดับปริญญาโทนี้ไม่เน้นการเรียนทฤษฎีอย่างเดียว แต่เน้นการลงมือปฏิบัติ การทำกิจกรรมกลุ่ม การทำงาน ซึ่งปกติแล้วจะมีทุกสัปดาห์ การศึกษาต่อปริญญาโทจะมีทั้งหลักสูตรที่กำหนดคุณสมบัติปริญญาตรีในสาขาวิชาเดิมหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต แต่ในบางหลักสูตรก็ไม่กำหนดว่าจบสาขาวิชาใด
4. ระดับปริญญาเอกหรือปริญญาดุษฎีบัณฑิต
เป็นการเรียนที่ลงลึกไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างลึกซึ้ง วิชาเรียนจะมากกว่าปริญญาโทแต่น้อยกว่าปริญญาตรี โดยปกติจะมีประมาณเกือบ 20 วิชา ซึ่งชื่อรายวิชาจะคล้ายปริญญาโทแต่มีเนื้อหาที่ลึกกว่า หรือบางหลักสูตรนั้นไม่เปิดรายวิชาให้เรียนเลยก็ได้ แต่ต้องผ่านการสอบวัดคุณสมบัติที่ต้องผสมผสานทั้งทฤษฎีและการประยุกต์
การทำดุษฎีนิพนธ์ เป็นการทำวิจัยระดับปริญญาเอกต่างกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คือ หากเป็นเชิงปริมาณจะใช้สถิติระดับสูง การวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง โมเดลเชิงสาเหตุ เชิงคุณภาพมักมีการฝังตัวนานหลายเดือนหรือหลายปีเพื่อได้ข้อมูลเชิงลึก การทำกลยุทธ์ การพยากรณ์แนวโน้ม การทำกระบวนการกลุ่มในทางวิจัย เช่น Focus Group จากนั้นต้องวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและสังเคราะห์ผลงานออกมา หัวใจการทำปริญญาเอกจึงไม่ใช่รายวิชาเรียน แต่เป็นการทำดุษฎีนิพนธ์ที่สร้างออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจึงสามารถมีคำนำหน้าว่า ดร. หน้าชื่อได้ บางหลักสูตรมีหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต และ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง โดยประกาศนียบัตรบัณฑิตจะเรียนได้หลังจบปริญญาตรี โดยมีสิทธิ์น้อยกว่าปริญญาโท ทั้งนี้จะเน้นการเรียนรายวิชามากกว่าการทำวิจัย และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงจะเรียนได้หลังจบปริญญาโท โดยมีสิทธิ์น้อยกว่าปริญญาเอก บางคนจึงเลือกเรียนเพียงหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงเท่านั้น
บางสถาบันมีหลักสูตรอนุปริญญา สำหรับการเรียนต่อในสายอาชีพ ซี่งจะตรงกับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยจะเป็นการเรียนต่อจากระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่ง ปวช.นั้นจะตรงกับระดับเตรียมอุดมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนปลายในสายสามัญนั่นเอง
ปวส. นั้นเป็นระดับก่อนปริญญาตรีหรืออนุปริญญาตรี ส่วนประกาศนียบัตรบัณฑิตมักเรียกว่า ป.บัณฑิต กรณีได้ปริญญากิตติมศักดิ์ จะไม่ถือว่าเป็นการสำเร็จการศึกษา แต่ถือเป็นเกียรติว่ามีความรู้ด้านนั้น ทั้งนี้ ผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จึงไม่เรียกว่า ดอกเตอร์ (ดร.) เพราะมิได้สำเร็จการศึกษาจากการเรียนและทำวิจัย ซึ่งปริญญากิตติมศักดิ์นั้นเป็นการอนุมัติผ่านสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งตามระดับหลักสูตรที่ตรงกับสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยมี
ข้อมูลจาก : ครูปอนด์ (ณัฐพงศ์ จันทนะศิริ) ผู้จัดการโครงการกตัญญูเดมี
#เจาะลึกการเรียนระดับอุดมศึกษา#การเรียน#การศึกษา#ระดับการศึกษา#เตรียมอุดมศึกษา#ปริญญาตรี#ปริญญาตรีหรือปริญญาบัณฑิต#ปริญญาโท#ปริญญาโทหรือปริญญามหาบัณฑิต#ปริญญาเอก#ปริญญาเอกหรือปริญญาดุษฎีบัณฑิต#นักเรียน#นักศึกษา#เยาวชน#Education#KTDMore#บทความ#บทความน่ารู้#บทความทางการศึกษา#เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย#Katanyudemy#กตัญญูเดมี่#กตัญญู#พัฒนาการศึกษาไทย ไม่อยากพลาดข่าวสารด้านการศึกษาดี ๆ จากทุกมุมโลก อย่าลืมติดตาม Katanyudemy กันนะคะ
ติดต่อลงข่าวและประชาสัมพันธ์เรื่องราวและข่าวสารด้านการศึกษากับ Katanyudemy สามารถ inbox เข้ามาที่เพจได้เลยค่ะ
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมคลิก